อัปเดตเทรนด์ DIGITAL MARKETING 2021 พร้อมรับมือกับความท้าทาย

มาอัพเดทเทรนด์คอนเทนต์แบบไหนและ การนำเสนอสื่อแบบใดที่ จะสามารถเจาะกลุุ่มผู้บริโภคได้บ้าง ในปี 2021.

User-Generated Content

User Generated Content หรือ UGC เป็นคอนเทนต์ที่มาจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นภาพ วิดีโอ หรือการรีวิว ซึ่ง UGC เป็นหนึ่งในรูปแบบการตลาดแบบปากต่อปากที่ทรงพลัง แม้ว่าจะมีการพูดถึง UGC กันมาตลอด สำหรับปี 2021 คอนเทนต์ลักษณะนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่แบรนด์เป็นฝ่ายขยับตัวเข้าหากลุ่มเป้าหมายเอง ยกตัวอย่างเช่น บนแพลตฟอร์ม TikTok ที่เปิดให้แบรนด์กับผู้ใช้ทำคอนเทนต์ด้วยกันในรูปแบบการ Duet หรือการทำ Challenge.

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา UGC ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของกลยุทธ์การทำตลาดของหลาย ๆ แบรนด์ โดย 86% ของแบรนด์ได้นำคอนเทนต์ของลูกค้ามาต่อยอดเป็นคอนเทนต์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า UGC เป็นคอนเทนต์ที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก ไม่ใช่แค่สร้างการรับรู้ แต่สร้างยอดขายได้จริง ดังนั้น หากแบรนด์ต้องการสร้าง Engage กับกลุ่มเป้าหมาย ควรทำคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมได้

การค้นหาด้วยเสียง

หลังจากที่ได้มีการเปิดตัว Apple Siri, Google Assistant, Amazon Alexa ซึ่งได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการค้นหาด้วยเสียง ปัจจุบันประชากรครึ่งหนึ่งของโลกใช้การค้นหาด้วยเสียงแล้ว และคาดว่าในปี 2021 จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว.

จากข้อมูลล่าสุดของ We Are Social เผยว่า สถิติการใช้ Voice Search ของคนไทยในปี 2020 อยู่อันดับ 7 ของโลก และ 45% ของคนไทยมองว่าการสั่งการค้นหาด้วยเสียงเป็นเรื่องปกติ.

หากคุณต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงเว็บไซต์หรือช่องทางต่าง ๆ ของแบรนด์ ต้องปรับเว็บไซต์ให้เหมาะกับการค้นหาด้วยเสียง เช่น การเขียนให้เหมือนคำพูด รวบรวมข้อมูลว่ากลุ่มเป้าหมายมีแนวโน้มจะถามอะไร คีย์เวิร์ดที่เหมาะสม หรือเรียนรู้หลักเกณฑ์ Voice search ของ Google

Micro-Influencer และ Specialized-Influencer

สำหรับในปี 2021 Micro influencer ก็ยังเป็นองค์ประกอบที่ช่วยแบรนด์ในการทำการตลาดได้ดี ถึงแม้จะมีผู้ติดตามน้อย แต่เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะแมสเสจของพวกเขาส่งผลถึงการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคโดยตรง กระตุ้นทั้ง Engagement และยอดขาย ที่สำคัญยังเหมาะกับธุรกิจทุกขนาดและทุกกลุ่ม.

แนวโน้มการทำตลาดผ่าน Influencer ในปี 2021 จึงยังคงต้องมีไมโครอินฟลูเอนเซอร์เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค สอดคล้องกับข้อมูลของ We are social ระบุว่า 55% ของคนไทยมักใช้ Social Media เป็นช่องทางการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ที่ตัวเองสนใจ.

นอกจากนี้ Specialized Influencer หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ด้านการเงิน เทคโนโลยี ท่องเที่ยวแบบเจาะลึก เป็นต้น จะได้รับความสนใจจากแบรนด์มากกว่าเดิม เพราะพวกเขาคือกลุ่มคนที่มีความน่าเชื่อถือในสังคมนั้น ๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกว่าการใช้เซเลปหรือคนดังที่มีชื่อเสียง ทำให้ในปีหน้าเราจะเห็นแบรนด์ทำงานร่วมกับ Influencer ประเภทนี้มากขึ้น

Video Advertising

ก่อนหน้านี้ Instagram และ Facebook มีภาพเป็นศูนย์กลางการโฆษณา กว่า 55.6% ของโพสต์บน Fan page Facebook นั้นเป็นรูปภาพ ตามมาด้วยวิดีโอ 22.2% ทว่า Engagement ที่ดีที่สุดบน Facebook มาจากวิดีโอ.

เนื่องจากปัจจุบันแพลตฟอร์ม Social Media เริ่มพัฒนาฟีเจอร์วิดีโอให้ใช้งานง่ายขึ้น มีลูกเล่นสนุก ๆ อัดแน่นเพียบ อาทิ IG Stories, TikTok และ YouTube จากข้อมูลของ E-Marketer มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2021 เม็ดเงินโฆษณาวิดีโอเพิ่มขึ้นเป็น 14.89 พันล้านดอลลาร์ และ 1 ใน 3 ของผู้บริโภคจะซื้อสินค้าหลังเห็นโฆษณาวิดีโอ.

ขณะนี้หลายแบรนด์ยังมองข้ามการทำ Video Advertising เพราะมองว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่อย่าลืมว่าวิดีโอสร้าง Engage กับผู้ติดตามได้ดี ถ่ายทอดเรื่องราวได้ครบถ้วน และเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ง่ายกว่า สะท้อนให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องใช้ Video Advertising เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาด

ทำคอนเทนต์แบบ 4Cs

จากรายงานของ Talkwalker และ Hubspot พบว่า ยุทธศาสตร์การตลาดของปี 2021 ถูกกำหนดโดย “4Cs” ประกอบไปด้วย Community, Contactless, Cleanliness และ Compassion ที่เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง และรับผิดชอบต่อสังคมในช่วงการระบาดของ Covid-19.

Community: หรือชุมชน เมื่อทุกคนเริ่มให้ความสนใจกับชุมชนออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะ Facebook Group หรือเว็บบอร์ด แบรนด์สามารถเข้าหาลูกค้าผ่านช่องทางเหล่านี้ได้

Contactless: เลี่ยงการจับและสัมผัส ถึงเวลาแล้วที่บ้านเราต้องเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

Cleanliness: สุขอนามัย สร้างความมั่นใจว่าร้านค้า สินค้า และบริการจะสะอาดปลอดโรคมากพอ

Compassion: ความเห็นอกเห็นใจ หลังจากผ่านช่วงเวลายากลำบากมาด้วยกัน แบรนด์ต้องแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ

4Cs ยังเป็นแนวทางการทำคอนเทนต์ของแบรนด์ในอนาคต แม้ว่าสถานการณ์ Covid-19 ในบ้านเราจะเริ่มดีขึ้น แต่ผู้คนก็ยังหวาดกลัวและดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น แบรนด์จึงต้องสร้างคอนเทนต์เพื่อย้ำเตือนว่าการ์ดอย่าตก เพราะผู้บริโภคคาดหวังว่าสถานที่ที่ไปจะปลอดภัยจากเชื้อโรค หมั่นอัปเดทข่าวสารและสร้างความเชื่อมั่นถึงมาตรฐานความสะอาดปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ KFC ที่งดใช้สโลแกน Finger Lickin’ Good หรือ อร่อยจนต้องเลียนิ้ว เป็นการชั่วคราว.

Live Commerce

นับตั้งแต่คนทั่วโลกได้รู้จัก Covid-19 วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทุกคนคุ้นชินกับการ Live ขายสินค้า ซึ่งรูปแบบการไลฟ์ในลักษณะนี้เรียกว่า Live Commerce เป็นการผสมผสานระหว่างการขายสินค้าบนโลกออนไลน์เข้ากับประสบการณ์จากหน้าร้านเพื่อสร้างยอดขาย.

ในปีที่ผ่านมาการไลฟ์ขายสินค้าในเอเชียโตขึ้น 46.4% สำหรับในไทยเองก็มีแพลตฟอร์มที่เหมาะกับการไลฟ์ อาทิ Facebook, Instagram, Lazada, Shopee เป็นต้น นอกจากนี้ทางฝั่งแพลตฟอร์ม Social Media ก็ได้พัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อรองรับการไลฟ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มลิมิตการไลฟ์ใน Instagram ได้นานถึง 4 ชั่วโมง ด้าน Facebook ก็มีฟังก์ชันการไลฟ์แบบกลุ่ม เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ต้องการไปยังกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกัน หรือการตั้งเวลาไลฟ์.

แม้การไลฟ์จะทำได้ง่าย แต่สำหรับแบรนด์และนักการตลาดต้องทำการบ้านอย่างหนักหน่วง รับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น เพราะการไลฟ์เป็นการสื่อสารแบบ Real-Time ทำอย่างไรให้ดึงดูดผู้ชมได้ตลอดการไลฟ์ ดูแล้วอยากซื้อทันที และที่สำคัญคือต้องมี Influencer หรือผู้ดำเนินรายการที่เหมาะสม มีความน่าเชื่อถือ มีลูกเล่นเพื่อสื่อสารกับคนดู